หลักการของการคำนวณภาษีของบุคคลธรรมดา โดยส่วนใหญ่แล้วจะเหมือนกันในทุกๆปี แต่จะมีเพียงค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ทางรัฐบาลอาจจะมีประกาศมาตรการต่างๆออกมาให้ทราบกันในช่วงต้นปีของแต่ละปี หากเราคอยติดตามข่าวสารเหล่านี้ ก็จะทำให้เราสามารถใช้มาตรการเหล่านั้น เพื่อลดภาษีของเราได้ วันนี้ Accounting Journey จะพาไปศึกษาค่าลดหย่อนของปี 2567 และวิธีการคำนวณภาษีให้ได้ทราบกัน
ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี?
สำหรับบุคคลธรรมดา หากเป็นคนโสดที่มีรายได้ทั้งปีประมาณ 60,000 บาทเป็นต้นไป หรือคนที่มีคู่สมรสที่มีรายได้ทั้งปีประมาณ 120,000 บาทเป็นต้นไป จะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ที่ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
วิธีการคำนวณภาษีทำอย่างไร?
การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณได้จาก
ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ X อัตราภาษี
เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
เงินได้ หมายถึง รายได้ทุกประเภทของผู้เสียภาษีตลอดทั้งปี
ค่าใช้จ่าย หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีรายได้ ค่าใช้จ่ายสามารถเลือกนำมาลดภาษีได้ 2 แบบคือ ค่าใช้จ่ายที่ จ่ายไปตามจริง เหมาะกับผู้เสียภาษีที่มีเอกสารค่าใช้จ่ายต่างๆถูกต้องครบถ้วนทั้งปี แต่หากใครที่ไม่ได้เก็บเอกสารค่าใช้จ่ายต่างๆไว้ ก็สามารถเลือกแบบ อัตราเหมา ได้ ซึ่งทางกรมสรรพากรได้มีกำหนดอัตราเหมาของค่าใช้จ่ายของรายได้ประเภทต่างๆไว้แล้ว เช่น 20%, 30%, 50% หรือ 60% เป็นต้น
ค่าลดหย่อน หมายถึง รายการที่ผู้เสียภาษีสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ได้แล้ว รายการค่าลดหย่อนมีค่อนข้างหลากหลาย แต่ละรายการจะมีเงื่อนไขในการใช้ได้แตกต่างกันไป
ท่านสามารถศึกษาค่าลดหย่อนรายการต่างๆ ได้ที่ เทคนิควางแผนภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือน ให้คุ้มค่าและเหลือเก็บ
ตัวช่วยลดหย่อนภาษีของปี 2567 มีอะไรบ้าง?
สำหรับค่าลดหย่อนภาษีของปี 2567 นอกจากค่าลดหย่อนที่มีอยู่ทุกปี เช่น ลดหย่อนตนเอง ลดหย่อนบุตร แล้วนั้น ก็จะมีค่าลดหย่อนที่เป็นมาตรการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐเพิ่มเติมด้วย ซึ่งมาตรการที่ทางรัฐบาลได้ประกาศออกมาแล้วนั้นมีดังนี้
1.โครงการ Easy e-Receipt
โครงการ Easy e-Receipt เป็นโครงการที่ผู้เสียภาษีสามารถซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 และนำใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และจะต้องเป็นสินค้าที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตามระบบของกรมสรรพากรเท่านั้น
2.โครงการเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด
โครงการเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด เป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองต่างๆ ในช่วง Low Season โดยหากผู้เสียภาษีท่องเที่ยวในจังหวัดที่เป็นเมืองรองทั้ง 55 จังหวัดตามที่กำหนดในโครงการนี้ เช่น เชียงราย เพชรบูรณ์ ตรัง ตราด หรือเลย เป็นต้น ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้ได้ เช่น ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม หรือค่าที่พักโฮมสเตย์ เป็นต้น โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เป็นหลักฐาน
ต้องยื่นแบบภาษีเมื่อไร ยื่นที่ไหน?
กำหนดการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเป็นการยื่นแบบภาษีแบบกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ต่างๆ สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป แต่หากเป็นการยื่นแบบภาษีออนไลน์ สามารถยื่นได้ทาง เว็บไซด์ของกรมสรรพากร และยื่นได้ถึงวันที่ประมาณ 8-9 เมษายนของปีถัดไป (ยื่นได้เพิ่มอีก 7 วันทำการ นับจากวันที่ยื่นแบบกระดาษ) โดยแบบภาษีที่ใช้ยื่นมีดังนี้
- แบบ ภ.ง.ด.91 ใช้สำหรับผู้ที่มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) ซึ่งก็คือ เงินได้ประเภทเงินเดือนเพียงอย่างเดียว
- แบบ ภ.ง.ด.90 ใช้สำหรับผู้ที่มีเงินได้ตามมาตรา 40(1)-(8) ซึ่งก็คือมีเงินได้จากหลายๆประเภทรวมกัน
สำหรับเงินได้แต่ละประเภทมีอะไรบ้าง สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ เงินได้พึงประเมินกับการหักค่าใช้จ่าย
ค่าปรับกรณีที่ไม่ยื่นภาษีต้องจ่ายเท่าไหร่?
- บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 (แบบกระดาษ) ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี หรือยื่นแบบเกินกำหนดเวลา ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ก็สามารถเจรจาขอลดค่าปรับได้
- บุคคลธรรมดาที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 (แบบออนไลน์) กรณีมีภาษีต้องชำระ หากผู้เสียภาษีมิได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่กำหนด จะถือว่าท่านมิได้ยื่นแบบ ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
สรุปเกี่ยวกับวิธีคำนวณภาษีปี 2567
ผู้ที่มีเงินได้จะต้องคำนวณภาษีและยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากรทุกปี เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นหากท่านยังไม่มีความมั่นใจในการคำนวณภาษีด้วยตัวเอง หรือต้องการข้อมูลทางด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม ท่านสามารถติดต่อสอบถามกับ Accounting Journey ทางเว็บไซต์, อีเมล admin@accounting-journey.co.th หรือโทร 080-9898-914 ได้ทุกวัน