Skip links

ใบกํากับภาษีคืออะไร สำคัญอย่างไร เป็นสิ่งที่ผู้จดทะเบียน VAT ควรรู้

เมื่อเราจดทะเบียนเป็น ผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว เราจะมีหน้าที่ที่ต้องจัดทำเอกสารต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น ใบกำกับภาษีขาย หรือรายงานภาษีขาย เป็นต้น ดังนั้นใบกำกับภาษีจึงเป็นเอกสารที่สำคัญที่เราต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ และจัดทำให้ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามหลักของกรมสรรพากร เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องของเบี้ยปรับเงินเพิ่มที่อาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่เราจัดทำเอกสาร หรือยื่นภาษีผิดพลาดไป วันนี้ Accounting Journey จะพาท่านมาทำความรู้จักกับใบกำกับภาษีให้มากยิ่งขึ้น

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คืออะไร

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คือ เอกสารที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ หรือได้รับจากผู้ขายสินค้าหรือบริการ ในการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด และมีเบี้ยปรับเกิดขึ้นได้ โดยใบกำกับภาษีมีดังนี้

  • ใบกำกับภาษีขาย คือ ใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการในการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง ฝั่งผู้ออกใบกำกับภาษีจะเรียกว่า ใบกำกับภาษีขาย
  • ใบกำกับภาษีซื้อ คือ ใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้รับจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจากการซื้อสินค้าหรือการใช้บริการ ฝั่งผู้ได้รับใบกำกับภาษีจะเรียกว่า ใบกำกับภาษีซื้อ

ผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีคือใครบ้าง

ผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีตามกฎหมายได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

  • ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มีใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.20)
  • ผู้ทอดตลาดที่มิใช่ส่วนราชการซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยให้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน
  • กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งตัวแทนให้ขายสินค้าหรือให้บริการแทนผู้ประกอบการจดทะเบียน การออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทนในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้น ตัวแทนย่อมสามารถกระทำได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
  • ผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 เช่น ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้เข้ามาขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว

ออกใบกำกับภาษีได้เมื่อไหร่

เราสามารถออกใบกำกับภาษีได้เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

  • การขายสินค้า เมื่อมีการส่งมอบสินค้า
  • การให้บริการ เมื่อได้รับชำระค่าบริการ เว้นแต่ได้มีการออกใบกำกับภาษีหรือได้ใช้บริการก่อนที่จะได้รับชำระค่าบริการ ก็ให้ถือว่าความรับผิดได้เกิดขึ้นแล้ว
  • การนำเข้า เมื่อได้ชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือได้รับยกเว้นอากรขาเข้าก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
  • การขายสินค้าหรือการให้บริการในบางกรณี เช่น การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างทั้ง สิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า สัมปทาน หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า เว้นแต่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ หรือออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาสินค้า ก็ให้ถือว่าความรับผิดได้เกิดขึ้นแล้ว

การออกใบกำกับภาษีแต่ละประเภท

ใบกำกับภาษีที่สามารถออกได้ มีด้วยกัน 2 ประเภท คือใบกำกับภาษีอย่างย่อ และใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งใบกำกับภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้ มีเงื่อนไขในการออกใบกำกับภาษีที่แตกต่างกัน

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือ ใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก สามารถออกได้

รายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด (ต้องระบุว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”)
  2. ชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน vat ที่ออกใบกำกับภาษี
  3. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
  4. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
  5. ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่า “ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว”
  6. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับ
  7. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้ทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เป็นหน่วยเงินตราไทยและใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นที่มิใช่ภาษาอังกฤษ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี

การจัดทำรายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อ กฎหมายไม่ได้เคร่งครัดเช่นการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เนื่องจากภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ดังนั้นจึงสามารถ ขีด ฆ่า ลบ หรือแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยไม่ผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป คือ ใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในบังคับจะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

รายการของใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดดังนี้

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน vat ที่ออกใบกำกับภาษี
  3. รายการ “สำนักงานใหญ่” หรือ “สาขาที่” ของสถานประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียน vat
  4. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  5. รายการ “เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร” ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน vat (ถ้าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน vat ไม่จำเป็นต้องมีรายการนี้)
  6. รายการ “สำนักงานใหญ่” หรือ “สาขาที่” ของสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน vat (ถ้าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน vat ไม่จำเป็นต้องมีรายการนี้)
  7. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
  8. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
  9. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า หรือของบริการให้ชัดเจน
  10. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับ
  11. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

รายการใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปข้างต้น เป็นสาระสำคัญของใบกำกับภาษี หากผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีโดยมีรายการไม่ครบถ้วน จะมีผลกระทบต่อผู้ออกและผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ได้รับใบกำกับภาษี

วิธีการจัดทํารายการของใบกํากับภาษีแบบเต็มรูป

วิธีการจัดทํารายการของใบกํากับภาษีแบบเต็มรูป มีดังนี้

  • รายการในใบกำกับภาษีให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
  • ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้
  • ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต้องมีรายการครบถ้วน
  • รายการใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะต้องไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
  • การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมแล้วออกฉบับใหม่ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
  • วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดทำต้องเป็นวิธีการเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน

การเก็บรักษาใบกำกับภาษีต้องทำอย่างไร

ใบกำกับภาษี สำเนาใบกำกับภาษี ให้เก็บไว้ ณ สถานประกอบการที่จัดทำใบกำกับภาษี หรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้จัดทำ และในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการให้เก็บรักษาใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในวันเลิกประกอบกิจการต่อไปอีก 2 ปี

การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อให้จัดเก็บเรียงตามลำดับและตรงตามรายงานและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

สรุปเกี่ยวกับใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษี เป็นเอกสารที่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจัดทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะเป็นเอกสารที่มีประโยชน์ทั้งฝั่งของผู้ออกใบกำกับภาษีและผู้รับใบกำกับภาษีเป็นอย่างมาก เพราะผู้รับใบกำกับภาษีจะสามารถนำไปใช้สิทธิทางภาษีได้ แต่หากจัดทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะเกิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มกับทั้งผู้ออกใบกำกับภาษีและผู้รับใบกำกับภาษีได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีการวางระบบการออกเอกสารได้อย่างถูกต้อง มีการวางแผนและบริหารงานด้านภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีประสิทธิภาพ ก็จะลดความเสี่ยงในเรื่องเบี้ยปรับเงินเพิ่มได้ ดังนั้น หากท่านใดต้องการวางแผนภาษี ท่านสามารถติดต่อสอบถามกับ Accounting Journey ทางเว็บไซต์, อีเมล admin@accounting-journey.co.th หรือโทร 080-9898-914 ได้ทุกวัน

ยินดีให้คำปรึกษา

ให้คำปรึกษาโดยทีม Accounting Journey ซึ่งนำทีมโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) และมีทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านบัญชี ภาษี ตรวจสอบบัญชี กฎหมาย วิเคราะห์ข้อมูล และการวางแผนธุรกิจร่วมด้วย ซึ่งจะสามารถตอบคำถามให้คุณได้อย่างครบถ้วนถูกต้องในทุกประเด็น

Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า