Skip links

e-Tax Invoice & e-Receipt คืออะไร

ปัจจุบันการทำธุรกรรมต่างๆ มักจะอยู่ในรูปของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้การทำงานในแต่ละวันเริ่มง่ายมากขึ้น ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง และทำให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้หน่วยงานราชการบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการโดยตรงก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ให้การสนับสนุนการทำงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน เพื่อให้การทำงานสามารถทำในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ได้ตั้งแต่ต้นทางที่เกิดรายการค้าขายไปจนถึงปลายทางของการทำรายงาน งบการเงิน หรือเสียภาษีให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ สิ่งหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆในช่วงนี้คือคำว่า “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์” หรือที่เรียกว่า “e-Tax Invoice & e-Receipt” นั่นเอง สิ่งนี้คืออะไร มีประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน วันนี้ Accounting Journey จะมาอธิบายเพื่อให้ทุกท่านมีความเข้าใจในเรื่องนี้กันมากยิ่งขึ้น

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice คืออะไร

คือ ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร รวมถึงใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และ ใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือได้มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยระบบ e-Tax Invoice by Email

ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Receipt คืออะไร

ใบรับหรือใบเสร็จรับเงิน ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ด้วยวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด

ผู้ที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) คือใคร

คือ ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามมาตรา 77/1 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หรือมีหน้าที่ออกใบรับ ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ไม่จำกัดจำนวนรายได้
  • เป็นผู้จัดทำใบกำกับภาษี/เพิ่มหนี้/ลดหนี้/ใบเสร็จรับเงิน
  • จัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ XML หรืออิเล็กทรอนิกส์อื่น
  • มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ที่อยู่ภายใต้การรับรองของผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (NRCA) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  • ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ e-Tax Invoice by Email
  • มีระบบการควบคุมภายในที่ดี และสามารถพิสูจน์ได้ว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำและนำส่งให้แก่ผู้รับมีความถูกต้องครบถ้วนโดยใช้วิธีการที่เชื่อถือได้
  • นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตามรูปแบบที่กำหนด

ประเภทใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ที่สามารถจัดทำได้มีอะไรบ้าง

เอกสารที่สามารถจัดทำได้มีดังนี้

  • ใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร (ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป)
  • ใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร (ใบกำกับภาษีอย่างย่อ)
  • ใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
  • ใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
  • ใบรับ ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ใบเสร็จรับเงิน)

ซึ่งได้มีการจัดทำข้อความเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)

หน้าที่ของผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) มีอะไรบ้าง

  • จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด
  • ส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ให้ผู้ซื้อสินค้าและผู้รับบริการ
  • นำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ให้กรมสรรพากรตามระยะเวลาที่กำหนด
  • เก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ประกอบการที่สนใจระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ต้องทำอย่างไร

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถพัฒนาโปรแกรมใช้งานเองได้ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายกลางหรือเล็กต้องสรรหา “ผู้ให้บริการแทน (Service Provider)” เพื่อมาเป็นผู้ช่วยวางระบบนี้ และบริหารจัดการแทนตามที่ตกลงกัน ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมายื่นคำขออนุมัติ (การลงทะเบียน) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร โดยยื่นแบบคำขอ “บ.อ.01” เพื่อให้สรรพากรตรวจสอบต่อไป

การส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ต้องทำอย่างไร

1. วิธีส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

  • ปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 15 ถึงมาตรา 24 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

2.วิธีส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

  • จัดทำข้อมูลให้เป็นไปตามประกาศข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสาสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA Recommendation on ICT standard for Electronic Transaction)
  • ส่งภาษีรายเดือน โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนภาษีถัดไป
  • ต้องลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)

การเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ต้องทำอย่างไร

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ และ ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ต้องเก็บรักษาข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ไว้ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้เก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปี กรณีอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรจะต้องเก็บไว้จนกว่าการตรวจสอบภาษีอากรจะแล้วเสร็จ รวมถึงใบรับอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

ประโยชน์ของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

  • เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับธุรกรรมแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • ลดปัญหาการจัดการข้อมูลหรือเอกสารที่อยู่ในรูปของกระดาษ
  • ลดการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ
  • ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร
  • นำข้อมูลไปใช้ในการประมวลผลในระบบสารสนเทศเพื่อประโยชน์ขององค์กร
  • มีความน่าเชื่อถือและผลผูกพันทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สรรพากรมอบให้แก่ผู้ที่ใช้ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) มีอะไรบ้าง

สำหรับรายจ่ายเพื่อลงทุนในระบบจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการจัดทำ ส่งมอบ รับ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) หรือรายจ่ายค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายเหล่านี้มาใช้สิทธิทางภาษีเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ทั้งนี้ต้องเป็นรายจ่ายที่อยู่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 รายละเอียดของเงื่อนไขตาม พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 766 พ.ศ.2566

ที่มา :

1. ใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

2. eTax Invoice & eReceipt

3. Overview ภาพรวมการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์

สรุปเกี่ยวกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ผู้ประกอบการหรือผู้ทำธุรกิจทุกคนต้องคอยติดตามและปรับตัวให้ทันอยู่เสมอ โดยเฉพาะการทำธุรกรรมต่างๆแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) นี้ หากท่านปรับตัวและนำไปใช้ได้เร็วกว่าคู่แข่ง ท่านจะสามารถสร้างรายได้และทำงานได้อย่างคล่องตัวกว่าคู่แข่งแน่นอน ดังนั้นหากท่านใดที่มีความสนใจในเรื่องใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) และอยู่ในช่วงวางแผนทางภาษีเพื่อปรับใช้ ท่านสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Accounting Journey  ทางเว็บไซต์, อีเมล admin@accounting-journey.co.th หรือโทร 080-9898-914 ได้ทุกวัน ทั้งนี้เราไม่ได้เป็น Service Provider แต่เราสามารถแนะนำและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเบื้องต้นได้

ยินดีให้คำปรึกษา

ให้คำปรึกษาโดยทีม Accounting Journey ซึ่งนำทีมโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) และมีทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านบัญชี ภาษี ตรวจสอบบัญชี กฎหมาย วิเคราะห์ข้อมูล และการวางแผนธุรกิจร่วมด้วย ซึ่งจะสามารถตอบคำถามให้คุณได้อย่างครบถ้วนถูกต้องในทุกประเด็น

Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า