ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT (Value Added Tax) คือ ภาษีที่กรมสรรพากรมีการจัดเก็บจากการขายสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในไทย โดยในปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องจัดส่งภาษีประเภทนี้แก่กรมสรรพากรเป็นประจำทุกเดือน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการจด VAT มีประโยชน์ต่อธุรกิจมากกว่าที่คิด วันนี้ Accounting Journey จะมาอธิบายสาระสำคัญเกี่ยวกับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มว่าคืออะไร มีเงื่อนไขอย่างไร และมีขั้นตอนการจดภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรบ้าง
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คืออะไร
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ การแจ้งความประสงค์ต่อกรมสรรพากรเพื่อนำธุรกิจเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% โดยบริษัทหรือธุรกิจที่สนใจจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเข้าเงื่อนไขของกรมสรรพากรด้วย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องการจดทะเบียนและบริหารจัดการระบบ VAT หากธุรกิจมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รายได้เกิน และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ข้อดีของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อธุรกิจ
การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นขั้นตอนสำคัญที่ส่งผลดีต่อธุรกิจในหลายด้าน ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สามารถสร้างความได้เปรียบและโอกาสในการเติบโตให้กับบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. การขอคืนภาษีซื้อ
เมื่อธุรกิจจดทะเบียน VAT จะสามารถขอคืนภาษีซื้อได้ในกรณีที่ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นธุรกิจหรือช่วงที่มีการลงทุนสูง ช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น
บริษัทขายสินค้า 10,000 บาท มีภาษีขาย 700 บาท ในขณะที่บริษัทมีการซื้อสินค้าเข้ามาเช่นกันในราคา 15,000 บาท มีภาษีซื้อ 1,050 บาท เช่นนี้ บริษัทมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย 1,050 – 700 = 350 บาท จำนวนภาษี 350 บาทนี้ บริษัทสามารถนำไปเครดิตภาษีในเดือนถัดไป หรือจะขอคืนเป็นเงินสดก็สามารถทำได้
2. ความน่าเชื่อถือและการปฏิบัติตามกฎหมาย
การจดทะเบียน VAT แสดงถึงความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจในสายตาของลูกค้า คู่ค้า และหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ง่ายต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในระยะยาวได้
3. ความได้เปรียบทางการแข่งขัน
การที่ธุรกิจสามารถออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อทำธุรกิจกับบริษัทขนาดใหญ่หรือหน่วยงานราชการที่ต้องการใบกำกับภาษี ทำให้มีโอกาสในการปิดการขายได้มากขึ้น
4. การบริหารจัดการภาษีและบัญชี
การจดทะเบียน VAT ช่วยให้ระบบบัญชีของบริษัทมีความชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น เนื่องจากต้องมีการแยกภาษีซื้อและภาษีขายอย่างชัดเจน ทำให้การวางแผนภาษีและการบริหารจัดการทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมายภาษีโดยไม่ตั้งใจ
ขั้นตอนขอจดภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถขอดำเนินการได้ผ่าน 2 ช่องทางดังนี้
- ยื่นคำขอจดภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเอง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่จัดตั้งสถานประกอบการ
- ยื่นคำขอจดภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางออนไลน์ VAT-SBT online
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
- กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
- แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ
- แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01.1 จำนวน 3 ฉบับ (กรณีใช้สิทธิ)
- สัญญาเช่าอาคารหรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ที่เป็นสถานประกอบการ
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสถานประกอบการ
- สำเนาเอกสารแสดงสิทธิของผู้ให้เช่า/ผู้ยินยอม เช่น การเป็นเจ้าบ้าน
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ให้เช่า/ผู้ยินยอม
- แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ ที่แสดงให้เห็นบ้านเลขที่
- หนังสือมอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)
- สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
- สำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทพร้อมวัตถุประสงค์
และหากเป็นกรณีอื่นๆ จะใช้เอกสารเพิ่มเติมดังนี้
กรณีเป็นบุคคลธรรมดา
- สำเนาทะเบียนพาณิชย์
กรณีเป็นบุคคลต่างด้าว
- สำเนาหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
- สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
กรณีเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- สำเนาหนังสือการจัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
กรณีองค์การของรัฐบาล สหกรณ์
- หลักฐานที่แสดงฐานะนิติบุคคล
กรณีเป็นผู้อยู่นอกราชอาณาจักร ประกอบกิจการโดยมีตัวแทนยื่น
- สำเนาหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีการรับรองโดยสถานทูต หรือสถานกงสุล หรือบุคคลอื่นที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมสรรพากร
หรือสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
หลังจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบริษัทต้องทำอย่างไรบ้าง
- เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากลูกค้า 7% โดยที่ผู้ประกอบการจะต้องออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับลูกค้า
- จัดทำรายงานภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนด ได้แก่
- รายงานภาษีซื้อ สำหรับรายการใช้จ่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- รายงานภาษีขาย สำหรับรายการขายสินค้าหรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม
- รายงานสินค้าและวัตถุดิบ แสดงรายละเอียดสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบในคลังของธุรกิจ
- ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.พ.30 เป็นประจำทุกเดือน
สรุปเกี่ยวกับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นรายจ่ายอีกประเภทที่สำคัญไม่แพ้ภาษีประเภทอื่น ๆ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างมีหน้าที่ในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะสามารถช่วยให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งการออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้า การขอเครดิตหรือขอคืนภาษี ใครที่กำลังมองหาผู้ช่วยในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ Accounting Journey พร้อมให้บริการ รับจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สะดวก ง่าย ไม่ยุ่งยาก ติดต่อขอรับบริการได้ผ่าน Line : Accounting Journey หรือโทร 080-9898-914 ได้ทุกวัน