หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า อาชีพออดิท คือตำแหน่งที่ต้องตรวจสอบบัญชี มีความเกี่ยวข้องกับสายงานบัญชีเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว ออดิทมีหน้าที่หลากหลายมากกว่านั้น และยังเป็นตำแหน่งที่จำเป็นต้องมีในธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ เป็นอย่างมาก วันนี้ Accounting Journey จะมาอธิบายให้เข้าใจว่าตำแหน่งออดิทคืองานอะไร ออดิทตรวจอะไรบ้าง และความสำคัญของตำแหน่งนี้ต่อธุรกิจและองค์กรเป็นอย่างไร หาคำตอบไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้
ออดิท (Audit) คืองานอะไร
ออดิท (Audit) คือ ตำแหน่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงิน หรือตำแหน่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของแผนกต่าง ๆ ภายในองค์กรว่า มีการดำเนินงานที่สอดคล้องตามกฎระเบียบขององค์กรอย่างเคร่งครัดหรือไม่ เพื่อให้องค์กรมั่นใจว่าองค์กรมีการควบคุมภายในที่ดีและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการเสนอแนะและปรับปรุงการทำงานของแผนกต่าง ๆ ในองค์กร ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตำแหน่งออดิทมีกี่ประเภท
หลายคนอาจเห็นแล้วว่าตำแหน่งออดิท (Audit) ทำอะไรบ้าง แต่ต้องอธิบายก่อนว่า ออดิทนั้นไม่ได้มีแค่ตำแหน่งเดียวแล้วตรวจสอบทุกอย่างตามที่เกริ่นไปด้านบนเท่านั้น แต่มีการแบ่งประเภทของตำแหน่งออดิทออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ ผู้ตรวจสอบบัญชี (External Audit), ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Audit) และผู้ตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit) โดยมีรายละเอียดดังนี้
ผู้ตรวจสอบบัญชี (External Audit)
ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือ External Audit ทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินทั้ง งบฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น และหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นต้น พร้อมทั้งรับรองความถูกต้องของงบการเงิน เพื่อให้บริษัทสามารถนำงบการเงินนั้น ๆ ไปยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ต่อไป ซึ่งต้องยื่นเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
ตำแหน่งผู้ตรวจสอบบัญชีแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินของนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วน และต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกประเภทคือ ผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร (TA) ตรวจสอบงบการเงินเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร
ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Audit)
ผู้ตรวจสอบภายใน หรือ Internal Audit ทำหน้าที่ในการตรวจสอบระบบการทำงาน และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อดูว่ามีข้อบกพร่องตรงไหนหรือไม่ ทดสอบการควบคุมภายในในจุดต่างๆที่บริษัทควรจะมี เพื่อให้การทำงานภายในบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น วางแผนและแก้ไขการทำงานในจุดที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อธุรกิจหรือองค์กรได้
ผู้ตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit)
ผู้ตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT Audit ทำหน้าที่ตรวจสอบความเคลื่อนไหวในระบบ IT ทั้งหมด เพื่อประเมินประสิทธิภาพการควบคุมภายในของระบบ IT และบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบ IT ทั้งหมดขององค์กรให้เกิดขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ รวมทั้งคอยปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของระบบ IT ร่วมกับทีม IT ของบริษัท
ความสำคัญของตำแหน่งออดิทต่อองค์กรและธุรกิจ
ความสำคัญของตำแหน่งออดิทต่อองค์กรและธุรกิจ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นหลักดังนี้
1. ตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในองค์กรเพื่อป้องกันการทุจริต
ออดิทเป็นตำแหน่งที่คอยตรวจสอบและสอดส่องความเคลื่อนไหวขององค์กร สามารถตรวจจับการทุจริต และการฉ้อโกงได้ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียด้านการเงินขององค์กร
2. สร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบทางการเงินขององค์กร
เมื่อมีการตรวจสอบการบันทึกบัญชีและการจัดทำงบการเงินของออดิท จะช่วยให้องค์กรมีความโปร่งใส ได้รับความน่าเชื่อถือจากหุ้นส่วนต่าง ๆ และทำให้นักลงทุนที่สนใจในธุรกิจ และสถาบันการเงินต่าง ๆ มีความมั่นใจในประสิทธิภาพทางการเงินขององค์กร
3. ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร
การตรวจสอบของออดิท เป็นการช่วยยกระดับการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ จากการเห็นจุดบกพร่องที่ออดิทตรวจสอบอยู่เสมอ ช่วยให้ทีมบริหารค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
4. ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายขององค์กร
การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ออดิทจึงต้องมีการตรวจสอบการทำงาน รายการ หรือเอกสารทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในองค์กร เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
สรุปเกี่ยวกับตำแหน่งออดิท (Audit)
ตำแหน่งออดิท นับเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยตรวจสอบความเป็นไปขององค์กรให้มีความถูกต้องและเที่ยงตรง โดยเฉพาะเรื่องงบการเงินที่ต้องถูกต้องครบถ้วนตามหลักมาตรฐานการรายงานทางการเงิน และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีการรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับงบการเงิน และทำงานอย่างสุจริตและโปร่งใส ก็จะส่งผลให้ธุรกิจหรือองค์กรของคุณมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับจากนักลงทุน ลูกค้า และสถาบันการเงินต่าง ๆ สำหรับใครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชี ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Accounting Journey ทางเว็บไซต์, อีเมล admin@accounting-journey.co.th หรือโทร 080-9898-914 ได้ทุกวัน